1.สำรวจความพร้อมของบ่อปลาที่เรามี
เพื่อที่เราจะได้ใช้สิ่งที่มีโดยลงทุนเพิ่มน้อยที่สุด ซึ่งบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาโดยทั่วไป ได้แก่
-บ่อดิน บ่อปูน/ซีเมนต์ บ่อผ้าใบ/บ่อพลาสติก กระชัง
2.ศึกษารายละเอียดของปลาที่จะเลี้ยง
-สายพันธุ์ การดูแล สภาพแวดล้อม ความต้องการของตลาด ระยะเวลาเลี้ยง ต้นทุนการเลี้ยง ปลาชนิดไหนกินเนื้อหรือกินพืช
3.สำรวจความพร้อมของตัวเอง
-ดูว่าเราอยากเลี้ยงปลาอะไร มีเวลาดูแลแค่ไหน ความพร้อมของเงินทุน เช่น ถ้าเรามีร่องน้ำในสวนปาล์มและอยากใช้ประโยชน์จากมันแต่ไม่มีเวลาดูแล ไม่ได้ไปให้อาหาร อาจจะปล่อยปลากินพืชในปริมาณน้อย ๆ ให้กินสารอินทรีย์ในน้ำ เช่น ปลาสลิด ปลาหมอตาล ปลานิล
4.การเตรียมบ่อ
-บ่อดิน ควรตากบ่อให้แห้ง 1-2 วันแล้วหว่านปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินและกำจัดสัตว์ต่าง ๆ ที่หลงเหลือในบ่อแล้วตากบ่อไว้ 1-2 วันจึงเติมน้ำ
-บ่อปูน/ท่อซีเมนต์ ถ้าเป็นบ่อใหม่ต้องแช่น้ำไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์
-บ่อผ้าใบ/บ่อพลาสติก สามารถเติมน้ำเลี้ยงได้ทันทีหรือแช่น้ำไว้สัก 1 สัปดาห์ก่อนก็ได้ หลักการเดียวกับบ่อปูน
-กระชัง ถ้าเป็นกระชังใหม่ควรปักหรือแขวนกระชังไว้ก่อนปล่อยลูกปลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ให้ตะไคร่เกาะ ถ้ากระชังใหม่จะทำให้เป็นโรคหนวดเปื่อย หัวเปื่อย
5.อัตราการปล่อย
-ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของบ่อ โดยทั่วไปปลาดุก, หมอ, ช่อน อัตราปล่อยที่ 80-100 ตัวต่อตารางเมตร ถ้าปลานิล ปลาทับทิม ปล่อยที่ 30 ตัวต่อตารางเมตร ยิ่งปลาที่ต้องการออกซิเจนสูงยิ่งมีอัตราการปล่อยต่ำ
6.อาหาร
-ปลากินเนื้อ เช่น ปลาดุก ปลาหมอ ปลาชะโอน ปลาช่อน ปลากดเหลือง
-ปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสลิด มีอาหารสำหรับปลากินพืชโดยเฉพาะและสามารถให้อาหารลดต้นทุนพวกพืชหญ้าต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ควรให้อาหารปลาดุกที่มีโปรตีนสูงเช่นกันเพราะปลาจะโตไว คุ้มทุน
7.โรคของปลา
ช่วงปล่อยปลาใหม่ ๆ อาจมีปลาตายบ้างเล็กน้อย เกิดจากความบอบช้ำจากการจับและการเดินทาง แต่ถ้าตายมาก ๆ มักเกิดจากการติดเชื้อ ต้องรักษาโดยการให้ยากิน แต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ควรให้อาหารผสมยาในสามวันแรกของการให้อาหาร โดยใช้ยาแก้อักเสบ ( Amoxy ) 5 เม็ดต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ละลายยาในน้ำและนำมาคลุกอาหาร
8.การดูแลอื่นๆ
-กรณีปลายังเล็กอาจมีศัตรู คือ นก มากินลูกปลา บางนกแค่โฉบลงมากิน แต่นกบางชนิด เช่น นกกาน้ำ สามารถดำน้ำลงไปกินลูกปลาทีละเยอะ ๆ จึงควรป้องกันด้วยการขึงตาข่ายคลุมบ่อ